Channel Weed Thailand

420PRODUCTION.CO.,LTD

สว.ขวางดึงกัญชากลับเป็นยาเสพติด ด้าน สธ.ยอมรับหมอไม่พร้อม

1 min read

นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข และอดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า รัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องผลักดันกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด เพราะในช่วงปลดล็อค 3-4 ปีที่ผ่านมา ไม่มีอะไรรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับยาบ้าซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมมากกว่าหลายเท่าและเป็นสารเสพติดที่คนไทยใช้มากที่สุด แตกต่างจากกัญชาซึ่งชัดเจนกันมาหลายปีแล้วว่ามีสรรพคุณทางการแพทย์ ดังนั้นจึงควรผลักดันพระราชบัญญัติเพื่อใช้เป็นกฎหมายควบคุม หลังจากที่ค้างเติ่งอยู่ในรัฐสภามาหลายปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาบางพรรคการเมืองล่อยปละละเลยถูกดองจนกลายเป็นปัญหาสังคม

นพ.ประพนธ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาต่อมาคือการไม่มีความพร้อมและแนวทางที่ไม่ชัดเจน ซึ่งห่วงว่าเรื่องแพทย์ไม่ยอมจ่ายยาปุ๊นเพราะยังมีแนวทางไม่ชัดเจนและการควบคุมมากเกินไปจะทำให้ความสะดวกในการใช้ลดลง ดังนั้น สภาวิชาชีพต่างๆ จะต้องพิจารณาและออกแนวปฏิบัติให้ชัดเจนว่า อาการแบบไหน ควรใช้ปุ๊นในปริมาณเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม เพื่อให้การบริโภคเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง

รายงานข่าวระบุว่า ข้อมูลเรื่องการดอง พรบ.กัญชาของฝ่ายการเมืองนั้นมีกระแสข่าวว่า ร่าง พรบ.ปุ๊นฉบับประชาชน 2-3 เล่ม ถูกไปกองไว้อยู่ในลิ้นชักโต๊ะทำงานนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร มานานแล้ว แต่โดนหมอการเมืองในทำเนียบบางคนดึงชะลอเอาไว้ ไม่ยอมส่งเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อไปเปิดโหวตขอรับรองในรัฐสภา

ด้าน นายธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับหมอไม่พร้อม ปริมาณยังไม่เพียงพอกับสถานบริการสัดส่วนห่างถึง 1 : 10 โดยระบุว่า กรมเพิ่งจะเตรียมจัดอบรมออนไลน์ให้แพทย์เพื่อจ่ายกัญชาในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ คาดว่าจะมีการแพทย์ที่มาอบรมประมาณ 2,000 คน เมื่อเทียบสัดส่วนแพทย์กับร้านกัญชาที่ได้รับอนุญาต 18,000 – 20,000 ร้าน ก็จะเป็นสัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อ 10 สถานบริการ แต่กรมฯ ยังไม่รับรองระบบการแพทย์ทางไกล Tele-med ซึ่งต้องรอประกาศกระทรวงเรื่องความชัดเจน

ด้าน นพ.สมยศ กิตติมั่นคง อาจารย์พิเศษด้านแพทย์เวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า ที่ผ่านมาแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการส่งเสริมด้านหลักสูตรและองค์ความรู้ด้านกัญชาจึงมีแค่แพทย์แผนไทยที่ศึกษาเท่านั้น จึงเกิดคำถามว่า แพทย์ส่วนใหญ่จะกล้าสั่งจ่ายกัญชาหรือไม่ ดังนั้น สภาวิชาชีพต่างๆ จะต้องพิจารณาและออกแนวปฏิบัติเรื่องนี้ว่า อาการอย่างไร ควรจะใช้กัญชาอย่างไร ส่วนการตัดแนวทาง 15 โรค ออกเหลือเพียงดุลยพินิจของแพทย์ในใบ ภท.33 นั้นเป็นเรื่องที่ยิ่งน่ากังวลเพราะถ้าไม่มีแนวทางให้แพทย์ เขาก็จะไม่กล้าจ่ายยากัญชาให้ เพราะไม่รู้ว่าการวินิจฉัยนั้นเข้าได้กับแนวทางการใช้กัญชาหรือไม่

“เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคนออกใบสั่งจ่ายยา ซึ่งต้องไปหาข้อตกลงว่า คนที่จะสั่งจ่ายยาได้จะต้องอยู่ในคลินิก หรือในโรงพยาบาลประจำหรือไม่ เพราะว่า การตรวจวินิจฉัยโรคจะต้องตรวจร่างกายของผู้ป่วยให้ชัดเจนว่ามีอาการแบบไหน แล้วตัดสินใจออกใบสั่งจ่ายยาอย่างไร เพราะถ้ามีคนร้องเรียนทีหลัง สภาวิชาชีพจะต้องจัดการ อย่างมีคนเสนอให้ใช้เทเลเมดิซีน แต่ในแพทย์แผนปัจจุบันมีข้อกำหนดว่า การกระทำแบบนั้นได้ แพทย์จะต้องมีคลินิกประจำอยู่แล้ว ก็ต้องถามสภาวิชาชีพนั้นๆ ว่า แพทย์ทั้ง 2 วิชาชีพนี้ จำเป็นจะต้องจ่ายยาในคลินิกของตัวเองหรือไม่ เมื่อมีการให้ใช้ใบสั่งจ่าย จะเหลือแพทย์กี่คนที่กล้าสั่งจ่าย เพราะแพทย์บางคนไม่ได้เปิดคลินิกของตัวเอง สภาวิชาชีพจะยอมให้สั่งจ่ายกัญชาได้หรือไม่” นพ.สมยศ กล่าว

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *